คลังชี้ลดภาษีน้ำมันต้องศึกษารอบคอบ หวั่นกระทบรายได้

ข่าวล่าสุด

“คลัง” ชี้ลดภาษีน้ำมันทางเลือกสุดท้าย ย้ำต้องศึกษารอบคอบ หวั่นกระทบรายได้ ด้านสรรพสามิต อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด

วันที่ 24 มกราคม 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่ได้หารือกับกระทรวงพลังงาน เกี่ยวกับการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันทั้งน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินเนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังสามารถบริหารจัดการได้

ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการลดภาษีน้ำมัน เพื่อช่วยผยุงราคาไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น น่าจะเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะนำมาใช้ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษารายละเอียดว่าในเนื้อน้ำมันนั้น มีอัตราภาษีจำนวนเท่าใด และหากปรับลดภาษีลง แล้วรัฐจะสูญเสียรายได้จำนวนเท่าใด รวมถึงนำเงินจากแหล่งใด มาชดเชยรายได้ที่หายไป และหากปรับลดแล้ว ต้นทุนราคาสินค้าจะลดลงเท่าใด เนื่องจากขณะนี้รัฐยังจำเป็นต้องหารายได้เพิ่มดังนั้นการนำมาตรการลดภาษีน้ำมัน ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ปัจจุบันอัตราภาษีน้ำมันที่มีการจัดเก็บ ซึ่งรวมภาษีสรรพามิต ภาษีท้องถิ่นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 7-8 บาทต่อลิตร ขณะที่น้ำมันเบนซินอยู่ที่ 8-9 บาทต่อลิตร โดยแต่ละปีกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีน้ำมันได้ราว 200,000 ล้านบาท หรือ 18,000-19,000 ล้านบาท หากต้องปรับลดภาษีน้ำมันก็จะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องการปรับลดภาษีน้ำมัน หากลดลง 1 บาทต่อลิตร จะสูญเสียรายได้จำนวนเงินเท่าใด และราคาน้ำมันตลาดโลกต้องอยู่ระดับเท่าใด ที่จำเป็นต้องปรับลดภาษีน้ำมัน ซึ่งในอดีตที่เคยปรับลดภาษีน้ำมัน 5 บาท ราคาน้ำมันขณะนั้นอยู่ที่ 130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปัจจุบันราคาน้ำมันอยู่ที่ 80-88 เหรียญต่อบาร์เรล และราคามีแนวโน้มปรับลดลงด้วย

นอกจากนี้ ต้องพิจารณารายละเอียดของการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯด้วยว่า นำไปใช้พยุงราคาน้ำมันดีเซลจำนวนเท่าใด และใช้พยุงพลังงานอื่นจำนวนเท่าใด และหากปรับลดภาษีน้ำมัน เพื่อไปพยุงราคาพลังงานชนิดอื่น ก็จะไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมัน ขณะที่กองทุนน้ำมันฯ ได้กู้เงินมาแล้ว 30,000 ล้านบาท เพื่อพยุงราคาน้ำมัน ซึ่งขณะนี้ได้ใช้เงินไปแล้วกว่า 17,000 ล้านบาท โดยเงินที่เหลือสามารถใช้พยุงราคาน้ำมันไปได้อีก 5-6 เดือน แต่หากนำไปพยุงราคาพลังงานชนิดอื่นด้วย ก็จะใช้ได้เพียง 1-2 เดือนเท่านั้น ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบว่าจะใช้เงินกองทุนน้ำมันหรือจะลดภาษีน้ำมัน

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance